ขั้นตอนการเป็นพนักงานวิทยุสมัครเล่นขั้นต้น
ช่วงนี้มีเพื่อนสมาชิกถามมาหลายคนเกี่ยวกับ ขั้นตอนการเป็นพนักงานวิทยุสมัครเล่นขั้นต้น ว่ามีคุณสมบัติยังไง สมัครได้ที่ไหน ค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ ผมเลยถือโอกาสนี้เรียบเรียงลงในบทความนี้เผื่อจะมีประโยชน์กับคนทั่วไปที่ต้องการเข้ามาเป็นพนักงานวิทยุสมัครเล่นครับ
โดยจะขออ้างอิงกับภาคผนวก ๒ แนบท้ายประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การอนุญาตและกำกับดูแลกิจการวิทยุสมัครเล่น ในหัวข้อ วิธีการสอบและวิธีการอบรมและสอบเพื่อรับประกาศนียบัตรพนักงานวิทยุสมัครเล่น
โดยเท่าที่ดูในประกาศฯ ฉบับใหม่นี้ เขาจะระบุมาให้สองแนวทางคือ 1.สอบอย่างเดียวไม่มีการอบรม กับ 2.อบรมและสอบ อันนี้คิดว่าคงแล้วแต่ผู้จัดสอบว่าจะเลือกแบบไหน แต่ทราบมาว่าในช่วงนี้ (กรกฎาคม 2557) ยังคงยึดตามแบบเดิมคือ อบรมและสอบและมีคะแนนอบรมมาช่วยด้วยเพราะพี่เขาแจ้งว่ายังทำหลักสูตรใหม่ไม่ทันเลยใช้แบบเดิมก่อน เอาเป็นว่าเรารับทราบแบบใหม่เผื่อไว้นะครับโดยหลักการมาเป็นพนักงานวิทยุสมัครเล่นขั้นต้นก็ยังคงคล้ายๆ เดิม
ขั้นตอนที่ 1. สมัครเข้าสอบหรือการอบรมและสอบ เพื่อรับประกาศนียบัตรพนักงานวิทยุสมัครเล่นขั้นต้น
สถานที่สมัครและสอบ หรืออบรมและสอบ
- สามารถเลือกเข้าอบรมและสอบ ที่สนามสอบไหนก็ได้ ทุกจังหวัดทั่วประเทศไทย ที่ท่านสะดวก ดูตารางจัดสอบแต่ละจังหวัด
คุณสมบัติของผู้สมัครสอบ หรือการอบรมและสอบ
ผู้เข้ารับการสอบต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้
- มีสัญชาติไทย หรือมีเชื้อชาติไทย
- ไม่เป็นผู้ที่สอบหรืออบรมและสอบได้รับประกาศนียบัตรพนักงานวิทยุสมัครเล่นขั้นต้นมาแล้ว
ค่าใช้จ่ายกรณี สอบอย่างเดียว
ค่าใช้จ่ายในการสมัครสอบคนละ 300 บาท ประกอบด้วย
- ค่าดำเนินการจัดสอบไม่เกินคนละ 150 บาท ประกอบด้วย ค่าเช่าสถานที่จัดสอบ, ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสอบ
- ค่าใบสมัครสอบและเอกสารคู่มือแนะนำการสอบ คนละ 50 บาท
- ค่าธรรมเนียมการสอบคนละ 100 บาท
ค่าใช้จ่ายกรณี อบรมและสอบ
ค่าใช้จ่ายในการสมัครอบรมสอบคนละ 1,000 บาท ประกอบด้วย
- ค่าดำเนินการจัดอบรมและสอบไม่เกินคนละ 800 บาท ประกอบด้วย ค่าเช่าสถานที่จัดอบรมและสอบ, ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการอบรมและสอบ
- ค่าใบสมัครอบรมและสอบ และเอกสารคู่มืออบรมพนักงานวิทยุสมัครเล่น คนละ 100 บาท
- ค่าธรรมเนียมการอบรมและสอบคนละ 100 บาท
หลักสูตรการสอบ หรืออบรมและสอบ เพื่อรับประกาศนียบัตรพนักงานวิทยุสมัครเล่นขั้นต้น
หลักสูตรการสอบและวิธีการสอบเพื่อรับประกาศนียบัตรพนักงานวิทยุสมัครเล่นขั้นต้นใหม่ล่าสุดคือ กรณีมีการอบรมจะใช้เวลา 6 ชั่วโมง ส่วนสอบภาคทฤษฎี จำนวน 1๐๐ ข้อ ข้อละ 1 คะแนน ใช้เวลาสอบหนึ่งชั่วโมง โดยแบ่งออกเป็น 5 วิชา ดังนี้
- วิชาความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ
กิจการวิทยุสมัครเล่น จำนวน 25 ข้อ - วิชาการติดต่อสื่อสารของนักวิทยุสมัครเล่น จำนวน 20 ข้อ
- วิชาทฤษฎีต่างๆ สำหรับนักวิทยุสมัครเล่น จำนวน 20 ข้อ
- วิชาหลักปฏิบัติของนักวิทยุสมัครเล่น จำนวน 20 ข้อ
- วิชาคุณธรรมและจริยธรรมของพนักงานวิทยุสมัครเล่น จำนวน 15 ข้อ
ในจำนวนข้อสอบ 100 ข้อนี้ ต้องทำให้ได้ 60% ขึ้นไปจะถือว่าสอบผ่านครับ สังเกตว่าจะไม่มีคะแนนในการอบรมเหมือนเมื่อก่อนครับ เพราะฉนั้นวัดกันที่คะแนนข้อสอบล้วนๆ ถ้าอยากลองทำข้อสอบดูก็ไปที่นี่ แนวข้อสอบวิทยุสมัครเล่นขั้นต้น
สำหรับผู้ที่สอบได้คะแนนตามเกณฑ์การสอบเพื่อรับประกาศนียบัตรพนักงานวิทยุสมัครเล่นจะได้รับประกาศนียบัตรพนักงานวิทยุสมัครเล่น ซึ่งคณะกรรมการออกให้ และมีสิทธิยื่นคำขอรับใบอนุญาตพนักงานวิทยุสมัครเล่นต่อสำนักงานต่อไป
ขั้นตอนที่ 2 ยื่นคำขอรับใบอนุญาตพนักงานวิทยุสมัครเล่น
กรณีคนที่สอบผ่านแล้ว และได้รับใบประกาศนียบัตรพนักงานวิทยุสมัครเล่นขั้นต้นมาแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือยื่นคำขอรับใบอนุญาตพนักงานวิทยุสมัครเล่นหรือขอสัญญาณเรียกขาน หรือคอลซายน์ (Call sign) ซึ่งสามารถดำเนินการได้ดังนี้
กรณีไปดำเนินการยื่นเอกสารเอง ที่ สกทช. ทั้งในส่วนกลาง และภูมิภาค (ที่อยู่ สํานักงานกสทช. ส่วนภูมิภาคเขตต่างๆ) พร้อมเตรียมเอกสารต่างๆ ดังนี้
- กรอกแบบฟอร์มในใบคำขอ ( แบบ คท 2 ) ดาวน์โหลดแบบ คท.2
- สำเนาใบประกาศนียบัตรพนักงานวิทยุสมัครเล่นขั้นต้น พร้อมลงลายมือซื่อเซ็นต์รับรองสำเนา
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน พร้อมลงลายมือซื่อเซ็นต์รับรองสำเนา
- สำเนาทะเบียนบ้านพร้อมลงลายมือซื่อเซ็นต์รับรองสำเนา
- รูปถ่าย ขนาด 1 นิ้วหรือ 2 นิ้ว ไม่สวมหมวกและใส่แว่นตาดำ (กรณีที่ไม่มีรูปถ่าย ทางพนักงานสำนักงาน กสทช. มีบริการถ่ายรูปให้ฟรี)
- เงินค่าธรรมเนียม จำนวน 214 บาท (สองร้อยสิบสี่บาท)
กรณีส่งเอกสารทางไปรษณีย์
- ให้ท่านจัดส่งเอกสารทั้งหมดตามกรณีแรกและค่าธรรมเนียม 214 บาท โดยใช้ธนาณัติสั่งจ่าย ใส่ซองส่งไปที่สำนักงาน กสทช. ได้ทั้งส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค
- ไม่ต้องแนบซองเปล่าจ่าหน้าซองถึงตัวเองครับ เพียงแต่ระบุชื่อ ที่อยู่ที่ส่งกลับครับ สำนักงาน กสทช. บริการฟรี
- รอการตอบกลับทางไปรษณีย์ประมาณ 1 สัปดาห์ จะได้รับ บัตรประจำตัวพนักงานวิทยุสมัครเล่นขั้นต้น และใบเสร็จรับเงินค่าธรรมเนียม
พอดีได้ข้อมูลจาก HS4MM กสทช. ขอนแก่น มาว่ารับบริการทั่วราชอาณาจักร เพราะฉนั้นท่านสามารถส่งเอกสารไปที่ได้เลยนะครับ
- ธนาณัติ สั่งจ่าย คุณอาลี ฉัตรเวทิน ปณ. มหาวิทยาลัยขอนแก่น ค่าธรรมเนียมตามใบอนุญาต รวม VAT ไปด้วยครับ
- ที่อยู่ส่งไปที่นี่เลยนะครับ สำนักงาน กสทช เขต 21 (ขอนแก่น) เลขที่ 341 หมู่ที่ 19 ตำบลศิลา อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น 40000
ปล. เอกสารต้องครบ นะครับ (จะได้ไม่ต้องส่งหลายรอบ)
ขั้นตอนที่ 3. การหาซื้อเครื่องวิทยุคมนาคม (วิทยุสื่อสารสำหรับวิทยุสมัครเล่น)
เมื่อเราได้ใบอนุญาตพนักงานวิทยุสมัครเล่น เราก็จะมีสัญญาณเรียกขาน หรือคอลซายน์ (Call sign) ประจำตัวเราแล้วซึ่งเปรียบเสมือนใบขับขี่ ต่อไปคือต้องมีเครื่องวิทยุสื่อสารซึ่งเปรียบเสมือนรถเอาไว้ใช้งาน
ท่านสามารถเลือกซื้อเครื่องวิทยคมนาคม ต้องเป็นวิทยุสื่อสารสำหรับวิทยุสมัครเล่น ยี่ห้อ รุ่น อะไรมาใช้ก็ได้ตามความพึงพอใจ ได้ทั้งเครื่องใหม่หรือเครื่องมือสอง ทั้งนี้เครื่องวิทยุสื่อสารนั้น จะใช้งานได้ถูกกฎหมายจะต้องมีสัญลักษณ์ ปท., กทช., กสทช. หรือ NTC. อะไรก็แล้วแต่ที่บ่งบอกว่าถูกต้อง ซึ่งจำเป็นสำหรับใช้ในการขออนุญาต มี / ใช้ เครื่องวิทยุคมนาคม และตั้สถานีวิทยุคมนาคม ต่อไป
ขั้นตอนที่ 4. ขออนุญาต มี/ใช้ ซึ่งเครื่องวิทยุคมนาคม
เมื่อซื้อเครื่องวิทยุสื่อสารแล้วจะใช้งานได้ ท่านต้องยื่นเรื่องขอมี / ใช้ เครื่องวิทยุคมนาคมก่อน เปรียบเหมือนการจดทะเบียนรถยนต์นั่นเอง ดังนี้
กรณีไปยื่นเอกสารเอง ที่ สกทช. ทั้งในส่วนกลาง และภูมิภาค
- กรอกแบบฟอร์มในใบคำขอ ( แบบ คท 2 ) ดาวน์โหลด แบบคำขอ
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน พร้อมลงลายมือซื่อเซ็นต์รับรองสำเนา
- สำเนาทะเบียนบ้าน พร้อมลงลายมือซื่อเซ็นต์รับรองสำเนา
- สำเนาบัตรพนักงานวิทยุสมัครเล่นขั้นต้น พร้อมลงลายมือซื่อเซ็นต์รับรองสำเนา
- ค่าธรรมเนียม 535 บาท (ห้าร้อยสามสิบห้าบาทถ้วน) ต่อ 1 เครื่อง
กรณีส่งเอกสารทางไปรษณีย์
- ให้ท่านจัดส่งเอกสารทั้งหมดเบื้องต้นและค่าธรรมเนียม 535 บาท โดยใช้ธนาณัติสั่งจ่าย ใส่ซองส่งไปที่สำนักงาน กทช. ได้ทั้งส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค
- รอการตอบกลับทางไปรษณีย์ประมาณ 1 สัปดาห์ ท่านจะได้รับ ใบอนุญาต มี / ใช้ เครื่องวิทยุคมนาคม พร้อมใบเสร็จรับเงินค่าธรรมเนียม
กรณีให้ร้านจำหน่ายวิทยุสื่อสารดำเนินการให้
อีกทางเลิอกหนึ่งคือท่านสามารถให้ทางร้านที่ท่านซื้อวิทยุสื่อสาร ดำเนินการขออนุญาต มี / ใช้ เครื่องวิทยุคมนาคม แทนท่านได้
- โดยท่านต้องเตรียมเอกสารเบื้องต้นและค่าธรรมเนียม ให้พร้อมก่อนให้ร้านดำเนินการ สิ่งที่ต้องมีเพิ่มเติมคือ ใบมอบอำนาจ (พร้อมประทับตราและเซ็นต์รับรอง ติดอากรแสตมป์ 10 บาท) เพื่อมอบอำนาจให้ทางร้านดำเนินการแทนท่านได้ แต่ร้านก็น่าจะจัดการตรงนี้ให้ท่านด้วย
ถ้ารีบผมแนะนำไปดำเนินการเองที่กสทช. ครับรอรับได้เลย
ขั้นตอนที่ 5 . กรณีต้องการตั้งสถานีในรถยนต์ หรือสถานีประจำที่
กรณีนี้สำหรับคนที่ต้องการขออนุญาตตั้งสถานีในรถยนต์ หรือสถานีประจำที่ โดยเฉพาะคนที่ซื้อวิทยุสื่อสารชนิดตั้งประจำที่ (Base / Station) หรือ ชนิดติดตั้งในรถยนต์์ (Mobile) ควรจะขอนุญาตให้ถูกต้องเวลาโดนเรียกตรวจจะได้ไม่มีความผิดครับ
กรณีไปดำเนินการยื่นเอกสารเอง ที่ กสทช. ทั้งในส่วนกลาง และภูมิภาค
- กรอกแบบฟอร์มในใบคำขอ ( แบบ คท 2 ) ดาวน์โหลดแบบฟอร์ม
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน พร้อมลงลายมือซื่อเซ็นต์รับรองสำเนา
- สำเนาทะเบียนบ้าน พร้อมลงลายมือซื่อเซ็นต์รับรองสำเนา
- สำเนาบัตรพนักงานวิทยุสมัครเล่นขั้นต้น พร้อมลงลายมือซื่อเซ็นต์รับรองสำเนา
- ค่าธรรมเนียม 1,070 บาท (หนึ่งพันเจ็ดสิบบาทถ้วน) ต่อการขออนุญาต 1 สถานี
กรณีส่งเอกสารทางไปรษณีย์
- ให้ท่านจัดส่งเอกสารทั้งหมดตามข้อข้างบน พร้อมค่าธรรมเนียม 1,070 บาท โดยใช้ธนาณัติสั่งจ่าย ใส่ซองส่งไปที่สำนักงาน กทช. ได้ทั้งส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค
- รอการตอบกลับทางไปรษณีย์ประมาณ 1 สัปดาห์ จะได้รับ ใบอนุญาต ตั้งสถานีวิทยุคมนาคม และใบเสร็จรับเงินค่าธรรมเนียม
เสร็จเรียบร้อยสำหรับขั้นตอนการเป็นนักวิทยุสมัครเล่นที่ถูกต้องตามกฎหมาย หวังว่าบทความนี้จะมีประโยชน์กับท่านที่ต้องการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของงานอดิเรกที่เรียกว่าวิทยุสมัครเล่นนะครับ ขอบคุณสำหรับการติดตามครับ
คำเตือน : ห้ามคัดลอกบทความนี้ ถ้าเห็นว่ามีประโยชน์ให้แชร์หรือวางลิงค์มาเท่านั้นครับ (พิมพ์ยาวๆ มันเหนื่อย) ขอบคุณอีกครั้งครับ
สวัสดีครับ
ผมมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการยื่นเอกสารขอใบอนุญาตต่างๆผ่านทางไปรษณีย์อยากถามหน่อยดังนี้ครับ
1. ข้อมูลบางที่บอกต้องโหลด แบบ คท.2 อีกที่บอกต้องโหลด ฉก.2 สรุปคือตัวไหนกันแน่ครับ
2. กรณียื่นเอกสารทางไปรษณีย์ นอกจากเอกสารต่างๆแล้ว ผมจำเป็นต้องแนบซองเปล่าติดสแตมป์จ่าหน้าซองถึงตัวเองไปด้วยมั้ยครับ
3.ตรงธนาณัติสั่งจ่าย ผมต้องระบุชื่อผู้รับ และที่ทำการไปรษณีย์ของผู้รับว่ายังไงครับ(ในบทความไม่มีบอกครับ)
สวัสดีครับท่าน.
คือผมสอบผ่านวิทยุสมัครเล่นมานานเกือบ27ปีแล้ว ได้ call sing มาแล้วแต่จำไม่ได้ปัจจุบัน
ผมจะซื้อเครื่องใหม่ ผมต้องไปสอบใหม่ไหมครับ
นานขนาดนี้คงจะโดนยึดคอลซายน์แล้วครับ
ไม่ต้องสอบใหม่
แค่ไปสมัครสมาชิกสมาคมวิทยุไหนก็ได้ พร้อมกับใบประกาศนียบัตรที่สอบผ่าน ไปขอคอลซายน์ใหม่ได้เลยครับ
บทความนี้เขียนนานรึยัง หรือ พ.ศ.2567 ยังใช้ได้อยู่ไหมฮะ
นานแล้วครับ แต่ยังใช้ได้อยู่