กฎหมาย PDPA คืออะไร ย่อมาจากอะไร ถ่ายรูปผิดไหม
กฎหมาย PDPA คืออะไร ย่อมาจากอะไร ถ่ายรูปเล่นๆ ผิดไหม กฎหมาย PDPA บังคับใช้เต็มรูปแบบเเล้วเรามาดูกันว่าทำอะไรผิดไม่ผิด
ก่อนอื่นผมขอออกตัวก่อนว่าไม่ได้เชี่ยวชาญในเรื่องกฎหมายแต่อย่างใด เพียงแต่ว่า กฎหมาย PDPA น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตประจำวันของคนไทยและเราควรจะรู้ไว้ ก็เลยอยากจะเอามาเขียนลงในบล็อคไว้สักหน่อย
กฎหมาย PDPA ย่อมาจาก Personal Data Protection Act มีชื่อเรียกภาษาไทยอย่าเป็นทางการว่า พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 มีผลบังคับใช้วันแรกคือ 1 มิถุนายน 2565
กฎหมาย PDPA มีขึ้นเพื่อให้ภาคเอกชนและภาครัฐที่เก็บรวมรวม ใช้ เปิดเผย และหรือ โอนข้อมูลส่วนบุคคลในไทยให้เป็นไปตามมาตรการปกป้องข้อมูลของผู้อื่นจากการถูกละเมิดสิทธิส่วนตัว โดยหลักๆ คือต้องขอความยินยอมจากเจ้าของข้อมูล สำหรับข้อมูลส่วนบุคคล ตามกฎหมาย PDPA หมายถึงข้อมูลที่เกี่ยวกับบุคคลที่ทำให้ระบุตัวบุคคลได้ ทั้งทางตรงและทางอ้อม
สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับกฎหมาย PDPA ที่ถูกต้อง ว่าทำอะไรได้บ้าง
- ถ่ายภาพ หรือ คลิปวิดีโอ มีภาพของบุคคลอื่นติดมาโดยไม่เจตนา หากใช้เพื่อวัตถุประสงค์ส่วนตัว และไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายกับบุคคลที่ถูกถ่าย สามารถทำได้
- การโพสต์ภาพหรือคลิปวิดีโอ ที่มีภาพของบุคคลอื่นในสื่อสังคมออนไลน์ หากทำเพื่อวัตถุประสงค์ส่วนตัว ไม่แสวงหากำไรทางการค้าและไม่ก่อให้เกิดความเสียหาย สามารถทำได้
- ติดกล้องวงจรปิดภายในบ้าน ไม่จำเป็นต้องมีป้ายแจ้งเตือน หากติดเพื่อป้องกันอาชญากรรมและรักษาความปลอดภัย ทำได้
- กล้องหน้ารถ สามารถติดตั้งได้โดยที่ไม่ต้องแจ้งให้ใครทราบว่ารถของเรามีกล้อง แต่ให้ระมัดระวังในการใช้ภาพจากกล้อง เนื่องจากอาจจะมีปัญหาได้ หากมีการนำเนื้อหาในกล้องเฉพาะข้อมูลบางส่วนไปใช้เพื่อสร้างความเสียหาย อับอาย ให้แก่บุคคลที่ปรากฏในภาพ หรือนำไปใช้เพื่อการค้า หารายได้ หรือนำไปใช้กรณีอื่นๆ ที่ไม่ใช่เพื่อส่วนตัว แบบนี้จะผิดกฎหมายทันที
บทลงโทษตามกฎหมาย PDPA
- การกระทำใดๆ กับข้อมูลส่วนบุคคลของผู้อื่น โดยไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูล มาตรา 83 กำหนดโทษปรับทางปกครองไว้ สูงสุดไม่เกิน 3,000,000 บาท
- การเก็บข้อมูลที่มีความอ่อนไหว โดยไม่ได้รับความยินยอมโดยชัดแจ้ง และน่าจะทำให้เจ้าของข้อมูลเสียหาย มาตรา 79 วรรคสอง กำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 1,000,000 บาท
- การเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลโดยไม่ได้รับความยินยอม และน่าจะทำให้เจ้าของข้อมูลเสียหาย มาตรา 79 กำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 500,000 บาท
- ถ้าผู้ประกอบการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้า เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้ โดยไม่ได้รับความยินยอม มีความผิดมาตรา 79 วรรคสอง กำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 1,000,000 บาท
- การกระทำใดๆ กับข้อมูลส่วนบุคคลของผู้อื่นโดยไม่ได้ผ่านการขอความยินยอมตามรูปแบบที่ถูกต้อง รวมถึงไม่ได้แจ้งวัตถุประสงค์ รายละเอียด และแจ้งสิทธิของเจ้าของข้อมูลมาตรา 82 กำหนดโทษปรับทางปกครองไว้ สูงสุดไม่เกิน 1,000,000 บาท
- การเก็บข้อมูลส่วนบุคคลจากแหล่งอื่นที่ไม่ได้จากเจ้าของข้อมูลโดยตรง โดยไม่มีข้อยกเว้นให้เก็บข้อมูลได้ มาตรา 83 กำหนดโทษปรับทางปกครองไว้ สูงสุดไม่เกิน 3,000,000 บาท
สรุปกฎหมาย PDPA
ตามความเข้าใจของผมนะครับ คือมีรูปคนอื่นๆ ในไม่ว่าจะเป็นภาพถ่าย รูปถ่าย วีดีโอ จากกล้อง กล้องวงจรปิด กล้องหน้ารถหรือใดๆ ถ้าเอาเอาไปใช้ส่วนตัว โพสต์ปกติสามารถทำได้ครับ ยกเว้นว่าเอาไปใช้ในทางพาณิชย์หรือทำให้คนอื่นเสียหายหรือเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ใดๆ แบบนี้จะเสี่ยงเข้าข่ายกฎหมาย PDPA ครับ
เพิ่มเติมอีกนิดครับข้อมูลส่วนบุคคลในกฎหมาย PDPA ไม่ได้มีแค่ภาพถ่ายหรือวีดีโอนะครับ ให้ระวังในเรื่องของการเผยแพร่ข้อมูลคนอื่นในเรื่องของพวกนี้ด้วยนะครับ
– เลขประจำตัวประชาชน ชื่อ-นามสกุล
– ที่อยู่
– เบอร์โทรศัพท์
– อีเมล
– ข้อมูลทางการเงิน
– เชื้อชาติ
– ศาสนาหรือปรัชญา
– พฤติกรรมทางเพศ
– ประวัติอาชญากรรม
– ข้อมูลสุขภาพ